รายละเอียดหนังสือ

สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในประเทศกัมพูชาสมัยหลังเมืองพระนคร (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๙) เพื่อใช้เป็นคำพากย์ประกอบการแสดงหนังใหญ่ ต่อมามีการถอดเป็นอักษรไทยและแปลศัพท์เป็นภาษาไทยตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังปรากฏในสมุดไทยที่เก็บรักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ จำนวน ๔ ฉบับ คำพากย์รามเกียรติ์ภาษาเขมรดังกล่าวได้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ - ๑๒๔ แต่ในครั้งนั้นนำมาพิมพ์เพียง ๒ เล่มสมุดไทย และต่อมาได้พิมพ์แยกเป็นเล่มแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์อุทัยพันธุ์ รองทรง ณ อยุธยา เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๗๑ เฉพาะตอนศึกตรีเศียร ทูษณ์ ขรณ์ กับตอนนางสีดาหายเท่านั้น ดังความในพระนิพนธ์คำนำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อพิมพ์ครั้งแรกว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าคำพากย์รามเกียรติ์ภาษาเขมรของหอพระสมุดมีอยู่ถ้าให้พิมพ์เป็นคู่กันสำหรับผู้สนใจในทางวรรณคดีจะได้สอบสวนก็จะเหมาะดีจึงได้ให้ค้นดูคำพากย์ภาษาเขมรซึ่งมีฉบับอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร มีอยู่เป็นกระท่อนกระแท่นให้ตรวจดูความมีตอนทรพี ตอน ๑ ตอนศึกพิราพป่า ตอน ๑ ตอนศึกตรีเศียร ทูษณ์ ขรณ ตอน ๑ ตอนสีดาหาย ตอน ๑ แต่ตอนเหล่านี้ฉบับก็ไม่บริบูรณ์ทั้งนั้น มีความที่พอติดต่อกันได้แต่ตอนศึกเศียร ทูษณ์ ขรณ มาจนตอนสีดาหาย พอจะรวมพิมพ์ได้ ทั้งเป็นตอนที่ตรงกับคำพากย์ภาษาไทยที่พิมพ์ในงานคราวเดียวกันด้วย จึงได้เลือกถวายหม่อมเจ้าหญิงเครือมาศวิมลให้ทรงพิมพ์ในงานศพหม่อมราชวงศ์อุทัยพันธุ์ตามประสงค์ ลักษณะคำพากย์เกิดขึ้นได้อย่างไร ใช้ในการอย่างไร ได้อธิบายไว้ข้างต้นสมุดคำพากย์ภาษาไทยแล้ว ไม่จำต้องกล่าวอีก เชื่อว่าคำพากย์ภาษาเขมรก็เกิดขึ้นโดยอาการอย่างเดียวกัน” หนังสือนี้นับว่ามีคุณค่าสูงต่อการศึกษาวรรณคดีและอักษรศาสตร์ไทย - เขมร ทั้งเป็นที่ต้องการของครูอาจารย์ผู้สอนวรรณคดีไทย - วรรณคดีเขมรและผู้สนใจเป็นอย่างยิ่ง